Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

การดูแลปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการข้อเท้าแพลง (Ankle sprain)


   ข้อเท้าแพลงเป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยคนปกติทั่วไป ซึ่งเกิดจาก การเดินสะดุดหกล้ม ใส่ส้นสูงแล้วพลิก เล่นกีฬา หรืออุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งพยาธิสภาพของโรคจะอยู่ที่เอ็นและเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อเท้า อาการก็มีตั้งแต่ เป็นนิดๆ หน่อยๆ จากการชอกช้ำของเส้นเอ็นและเนื้อเยื่อไปจนถึงเส้นเอ็นฉีกขาดทั้งเส้น อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการข้อเท้าไม่มั่นคง ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวดหรือบวมที่เท้า หรือมีความลำบากในการสวมรองเท้า
ซึ่งโดยปกติเมื่อมีข้อเท้าพลิกซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการพลิกเข้าด้านใน จะทำให้เอ็นข้อเท้าทางด้านนอกได้รับบาดเจ็บปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเท้าเคล็ดได้บ่อย คือ เคยมีประวัติข้อเท้าเคล็ดมาก่อน รองเท้าไม่เหมาะสม น้ำหนักตัวมาก เดินหรือวิ่งบนพื้นที่ขรุขระ กล้ามเนื้อรอบข้อเท้าไม่แข็งแรง ถ้าเอ็กซเรย์ข้อเท้า โดยส่วนใหญ่มักจะไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่ในบางรายที่มีอาการมาก อาจพบมีกระดูกหัก หรือ ถ้าเส้นเอ็นขาดหลายเส้น และมีระดับความรุนแรงมาก ก็จะพบว่ามีช่องว่างของข้อเท้ากว้างมากขึ้น ซึ่งทางการแพทย์ได้แบ่งความรุนแรงของการบาดเจ็บออกเป็น ระดับ
  • ระดับที่ 1 มีการยืดหรือขาดของเอ็นเพียงเล็กน้อย อาจจะพบเพียงบวมและกดเจ็บบริเวณเอ็นที่ได้รับบาดเจ็บยังสามารถเดินลงน้ำหนักได้ตามปกติ มักจะหายภายใน 2 อาทิตย์
  • ระดับที่ 2 จะมีการฉีกขาดของเอ็นเพียงบางส่วน (โดยปกติจะไม่เกินร้อยละ 50) ในกลุ่มนี้จะปวดและบวมค่อนข้างมากจนอาจจะทำให้เดินลงน้ำหนักไม่ค่อยได้ มักจะหายใน 4 - 6 อาทิตย์
  • ระดับที่ 3 ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุด จะมีการฉีกขาดของเอ็นทั้งหมด มักจะพบว่าไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ และส่วนใหญ่จะพบว่ามีความหลวมของข้อ อาจต้องใช้เวลาในการรักษา 6 - 10 เดือนจึงจะหายสนิท แล้วถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมก็จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างสูงมาก

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการตรวจรักษา

  1. มีอาการปวดเพิ่มขึ้นหลังบริหารข้อเท้า
  2. มีอาการชา เนื่องจากการรัดด้วยผ้ายืดเป็นเวลานาน

การปฏิบัติตน

  • ใช้ความเย็นประคบส่วนที่เจ็บ หรือส่วนที่บวม เพื่อลดความเจ็บปวดและจะช่วยทำให้เลือดออกน้อยลง ระยะ 24 - 48 ชั่วโมงแรก ควรประคบถุงเย็นประมาณ 15 นาที ทุก 2 ชั่วโมง ใน 48 ชั่วโมงแรกหลังได้รับบาดเจ็บ
  • ช้ผ้าพันส่วนที่บวมเพื่อลดการบวม จำกัดการเคลื่อนไหว เพื่อพักบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บนั้น   
  • ให้ยกปลายเท้าให้สูงขึ้น เพื่อลดความเจ็บปวดและลดอาการบวม ยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เช่น เวลานั่งควรยกเท้าพาดเก้าอี้ ไม่ควรนั่งห้อยเท้านานๆ เวลานอนก็ใช้หมอนรองขา
  • ในรายที่มีอาการรุนแรงควรส่งพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม บางรายอาจต้องใสเฝือก หรือผ่าตัด

การบริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเท้า

  1. เคลื่อนไหว 6 ทิศทาง กระดกขึ้น - ลง บิดเท้าเข้า บิดเท้าออก หมุนเท้าวนเข้า และ หมุนเท้าวน ออก หรือ อาจใช้วิธีบริหารโดยเคลื่อนไหว ปลายเท้า เหมือนกับการเขียนตัวหนังสือขนาดใหญ่ๆ ก็ได้
  2. บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดย เกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้ประมาณ 5 - 10 วินาที ใน 4 ทิศทาง คือ กระดกขึ้น - ลง บิดเท้าเข้าด้านใน และบิดเท้าออกด้านนอก

การบริหารประสาทรับความรู้สึกของข้อเท้า

   ยืน หรือ นั่ง แล้วให้ลงน้ำหนักเล็กน้อยบนเท้าข้างที่บาดเจ็บ โดยเน้นลงน้ำหนักตามส่วนต่างๆ ของเท้า คือ ส้นเท้า ปลายเท้า ด้านในเท้า ด้านนอกเท้า ทำสลับกัน ประมาณ 10 รอบ

วันเวลาทำการ

เปิดทุกวันทำการ วันจันทร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08:00 - 20:00 น.
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ชั้น 6 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
ติดต่อสอบถาม
โทรศัพท์ : 02-109-9111 ต่อ 10627, 10628
Call Center 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.