Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

24 ธ.ค. 2562


   โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นที่รู้จักนานกว่า 60 ปี นับป็นโรดเก่าที่อุบัติขึ้นมาใหม่ โรคนี้เกิดจาก เชื้อไวรัส Chikungunya เป็นไวรัสคนละกลุ่มกับไข้เลือดออกและไข้ไวรัสซิก้า ชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นภาษามากอนดี แปลว่า ตัวโค้งงอ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง มีผื่น ปวดข้อมากจนตัวโค้งงอ จึงตั้งชื่อโรคนี้ตามลักษณะอาการของผู้ป่วย พาหะของโรค (Vector) ได้แก่ ยุงลายบ้าน และยุงลายสวน สำหรับยุงลายสวนนั้นพบได้บ่อยในบริเวณที่มีต้นไม้หนาแน่น โรคชิคุนกุนยา จะมีอาการค่อนข้างเฉียบพลัน โดยมีระยะฟักตัวของโรค 3 - 7 วัน (หลังจากโดนยุงกัด)
อาการ

  • มีไข้สูงได้ถึง 39 - 40 องศาเซลเซียส โดยจะมีไข้อยู่ประมาณ 3 วัน
  • เจ็บปวดตามข้อ โดยข้อที่ปวดจะเป็นข้อเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ บางรายอาจปวดข้อใหญ่ได้ เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า เป็นต้น ทำให้ลงน้ำหนัก หรือเดินลำบาก
  • มีผื่นขึ้นทั่วตัว คล้ายหัดในเด็ก
  • ตาแดง
  • อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว

การตรวจวินิจฉัย
   การตรวจเลือด เซรั่ม หรือพลาสมาของผู้ป่วย เพื่อตรวจหาไวรัส RNA ตรวจภูมิต้านทานตอบสนอง ต่อไวรัส IgG และ IgM ซึ่งภูมิดังกล่าวมีลักษณะค่อนข้างจำเพาะ ไม่มีปฏิกิริยาข้ามกลุ่มไปไวรัส ชนิดอื่น เช่น ไข้เลือดออกหรือไข้ไวรัสซิก้า
  • ไวรัส RNA ตรวจพบได้ดีภายใน 5 วันหลังมีไข้
  • ภูมิต้านทาน IgM ส่วนใหญ่ตรวจพบได้หลัง 5 วันไปแล้ว
การรักษา
  1. รักษาตามอาการของผู้ป่วย โดยการวินิจฉัยของแพทย์
  2. อาจให้ยาแก้ปวด และยาในกลุ่มต้านอักเสบในผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อ

การป้องกัน
   ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การทำลายแหล่งลูกน้ำยุงลาย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายพันธุ์ของยุง และการป้องกันไม่ให้ยุงกัด
วิธีการป้องกันการแพร่กระจายพันธุ์ของยุงลาย

  • ไม่ปล่อยให้มีน้ำขังตามจุดต่างๆ รอบบ้าน (กรณีทำลายแหล่งน้ำขังไม่ได้ให้เติมทรายอะเบต)
  • หากมีอ่างน้ำประดับบริเวณบ้าน ควรเลี้ยงปลาหางนกยูง เพื่อป้องกันการวางไข่ของยุงลาย
  • ตัดหญ้าให้เตี้ย

วิธีป้องกันยุงกัด

  • ติดตั้งมุ้งลวด หรือใช้มุ้งเวลานอน
  • ใช้ยาทากันยุงที่มีส่วนผสมของ DEET ที่ร่างกาย (ข้อห้ามเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี) รวมถึงควรฉีดสเปรย์ยากันยุงที่ใช้กลิ่นไล่ยุงใส่เสื้อผ้าที่เราสวมใส่เพื่อป้องกันอีกชั้นหนึ่งด้วย
  • สวมเสื้อแขนยาวและกางกงขายาวสีขาว หรือสีจาง เมื่อจำเป็นต้องออกไปบริเวณที่มียุงชุม ไม่ควรใส่เสื้อผ้าสีเข้มหรือดำที่ยุงชอบ
สนับสนุนข้อมูลโดย : โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ตับ ทางเดินอาหาร โรคไวรัส

โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.