Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ตื่นตัว ป้องกัน รู้ทัน “โรคพิษสุนัขบ้า”

9 มี.ค. 2561



   สัตว์เลี้ยงแสนน่ารักข้างกาย หรือสัตว์จรจัด อาจกลายเป็นอันตรายที่นำมาสู่คุณและคนที่คุณรัก โดยเฉพาะเด็กน้อยลูกหลานของเรา ซึ่งมีความซุกซนตามวัยและรักสนุก อาจถูกกัดหรือสัมผัสโรคโดยไม่รู้ตัว ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า และอาจเสียชีวิตอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อว่า เรบีส์ (Rabies) ซึ่งทำให้เกิดโรคในสัตว์เลี้ยงลูกได้นม ไม่เพียงแค่สุนัขหรือแมว ยังมีทั้งกระต่าย กระรอก ลิง ชะนี เป็นต้น โดยเฉพาะสุนัขและแมว เป็นสัตว์ที่แพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนมากที่สุด คนที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้านั้น ในระยะที่มีอาการแสดงของโรคเชื้อไวรัสจะทำลายระบบประสาท ผู้ติดเชื้อจะมีอาการทางระบบประสาทเป็นอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด ปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดที่จะรักษาได้ หากติดเชื้อจะเสียชีวิตทุกราย โรคพิษสุนัขบ้าจึงเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง

โรคพิษสุนัขบ้าแพร่เชื้อจากสัตว์มาสู่คน...อย่างไร
   เกิดจากการสัมผัสสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าและเชื้อไวรัส จะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอก ที่ถูกสัตว์ข่วน หรือโดนน้ำลายจากสัตว์เลีย ทั้งบริเวณริมฝีปาก หรือเยื่อบุตา หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ทุกวัยมีโอกาสเสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้า

รู้ทัน...เมื่อถูกสัตว์ “กัด ข่วน เลีย” ข้อควรปฏิบัติที่ถูกต้อง

  • ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆครั้ง โดยให้น้ำไหลผ่าน และทายาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน หรือแอลกอฮอล์
  • ไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการดูแลที่ถูกต้อง ซึ่งแพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและเซรุ่มตามความเหมาะสม

ผู้ป่วยที่ถูกสัตว์ หากยังไม่เคยรับวัคซีน แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

  • หากถูกสัตว์กัดแต่ไม่มีบาดแผลเลือดออก หรือสัมผัสน้ำลายบริเวณตาหรือปาก ผู้สัมผัสต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 5 เข็ม (ตามวันที่กำหนด)
  • หากถูกสัตว์กัดหรือข่วนและมีบาดแผลที่มีเลือดออก เป็นแผลที่มีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องฉีดเซรุ่มร่วมกับวัคซีน โดยฉีดรอบๆแผลทุกแผล เพราะเซรุ่มเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปแบบเร่งด่วนที่ไปทำลายเชื้อได้ก่อนที่จะก่อโรค และก่อนที่วัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้เอง

ป้องกันไว้ดีที่สุด...ด้วยการ “ฉีดวัคซีนแบบล่วงหน้า”
   เป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อม เพื่อต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้าไว้ก่อนถูกกัด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องสัมผัสกับสุนัขแมวบ่อยครั้งและในเด็ก ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน แม้ยังไม่ถูกกัดหรือข่วน จะช่วยลดความเสี่ยงและปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า การให้วัคซีนป้องกันโรค สามารถฉีดในปริมาณ 0.5 ซีซี เพียง 3 เข็ม ในระยะห่างกัน 1 - 2 สัปดาห์ หากถูกสัตว์กัดและบาดแผลมีเลือดออก จะได้รับวัคซีนกระตุ้นเพียง 1 - 2 เข็ม และไม่จำเป็นต้องได้รับเซรุ่ม

ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนป้องกันแบบล่วงหน้า

  • ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เซรุ่ม ซึ่งมีราคาแพงในกรณีที่ถูกสัตว์กัดและบาดแผลมีเลือดออก
  • ปลอดภัย เพราะใช้วัคซีนกระตุ้นช่วยภูมิคุ้มกันถึงระดับป้องกันโรคได้เร็วกว่า ไม่จำเป็นต้องรับเซรุ่ม ลดความเสี่ยงต่ออาการแพ้เซรุ่ม
  • เจ็บตัวน้อยกว่า เพราะหากถูกสัตว์กัด จะฉีดวัคซีนกระตุ้นอีก 1-2 เข็ม ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนล่วงหน้า ส่วนใหญ่ต้องฉีดวัคซีน 5 เข็ม และฉีดเซรุ่มรอบๆ แผล ทุกแผล

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.นุชจรี สินสุขพร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.