Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

โรคปวดหัวของคนทำงาน เช็คยังไงแค่ปวดหัวหรือไมเกรน

4 ส.ค. 2564


   อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยและส่งผลให้ใครหลายๆ คนเกิดความรำคาญ  และรบกวนในการใช้ชีวิตและการทำงาน แต่หลายคนยังไม่ทราบว่าอาการปวดศีรษะนี้ เป็นอาการปวดศีรษะธรรมดาที่เกิดจากความเครียด หรือเกิดจากอาการปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งก็จะมีวิธีการรักษา และการบรรเทาอาการที่ต่างกันออกไปบ้าง และนี่คือข้อสังเกตเบื้องต้นที่จะช่วยให้เราแยกว่าอาการปวดศีรษะของเรานั้นเกิดจากอะไรกันแน่

ปวดศีรษะจากความเครียด

   กลุ่มที่พบบ่อยคือกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงาน อาการที่พบคือ มีอาการปวดศีรษะบริเวณขมับทั้ง 2 ข้าง (อาจมีการปวดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้างหนึ่งได้) ลักษณะปวดบีบๆ รัดๆ ตึงๆ เหมือนมีอะไรมาบีบที่ขมับ 2 ข้าง อาจมีการปวดร้าวลงมาที่บริเวณท้ายทอย หน้าผากหรือกระบอกตาได้ หากมีอาการปวดมากอาจมีการคลื่นไส้อาเจียนได้ในบางครั้ง มักเกิดจากการทำงานหนัก ทั้งงานที่ใช้แรงกาย การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน งานที่ใช้สายตาหรือความคิดมากๆ จนล้า ความเครียดจากสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่การขับรถ นั่งรถไกลๆ ก็อาจทำให้เกิดความเครียดจนปวดศีรษะได้ เช่นกัน

วิธีการบรรเทาอาการ

   ในระหว่างวันหรือระหว่างการทำงานควรพักสายตาด้วยการทอดสายตามองไกลๆ มองหาสีโทนเย็น เช่น สีเขียว สีฟ้า หรือหลับตา โดยทุก 1 - 2 ชั่วโมงในการทำงานควรมีการพักสายตาประมาณ 30 - 60 วินาที
   ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ และหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ระหว่างการทำงาน หลีกเลี่ยงการทำงานในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป
   หาเวลาพักผ่อน คลายความเครียดและนอนให้เพียงพอ หากอาการปวดเป็นมากอาจทานยาแก้ปวดเป็นครั้งคราวได้

ปวดศีรษะไมเกรน

   ส่วนมากมักพบในกลุ่มสตรีอายุน้อยกว่า 40 ปี โดยมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว (อาจพบปวดทั้ง 2 ข้างได้บ้างแต่น้อยกว่า 15%) โดยอาจปวดสลับไปมาซ้ายบ้างขวาบ้าง ลักษณะปวดตุ๊บๆ ระยะเวลาในการปวดจะนานกว่าประมาณ 4 ชั่วโมงไปจนถึง 2 - 3 วัน มักจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยเกือบทุกครั้งที่ปวดศีรษะ บางคนอาจมีสัญญาณนำมาก่อนอาการปวดศีรษะเช่น เห็นแสงวิบๆ วับๆ ได้กลิ่นแปลกๆ หรือมีอาการชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีกก่อนการปวดศีรษะ พอมีอาการปวดศีรษะแล้วอาการเหล่านี้จะหายไป และมักจะพบว่ามีปัจจัยกระตุ้นในการก่อให้เกิดการปวดศีรษะไมเกรนที่ชัดเจนกว่าการปวดศีรษะจากความเครียด เช่น แสงจ้า เสียงดัง การมีประจำเดือน อากาศที่เปลี่ยนแปลง การพักผ่อนน้อย หรืออาหารบางอย่างก็กระตุ้นการเกิดไมเกรนได้เช่น อาหารหมักดอง ชีส ช็อกโกแลต คาเฟอีน แอลกอฮอล์ อาหารแปรรูปที่มีส่วนผสมของผงชูรส น้ำตาลเทียม สารกันบูดเป็นต้น สำหรับสตรีบางครั้งอาจมีการปวดศีรษะไมเกรนช่วงการมีประจำเดือนเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแอสโตรเจนในร่างกายได้

วิธีการบรรเทา

   สังเกตว่าอะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะและพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้น  หากมีอาการปวดศีรษะไม่มากให้รีบทานยาแก้ปวดแต่เนิ่นๆ จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดีกว่าปล่อยให้ปวดมากๆ แล้วค่อยทานยา  ถ้าอาการปวดเป็นบ่อยเกินกว่า 8 วันต่อเดือน หรือมีอาการปวดแต่ละครั้งรุนแรงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. ธนกร สืบพันธ์วงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ระบบประสาทและสมอง

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.