Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

มองเห็นลูกน้อยในครรภ์...ด้วย “อัลตร้าซาวด์ 4 มิติ”

11 มิ.ย. 2563



  การมองลูกน้อยในครรภ์ ปกติใช้อัลตร้าซาวด์ 2 มิติ เป็นหลักในการตรวจ ซึ่งบางครั้ง อาจสร้างความลำบากแก่คุณพ่อคุณแม่ ในการมองภาพ การตรวจอัลตร้าซาวด์ 3 มิติ และ 4 มิติ จึงมีส่วนช่วยลดปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ต้องมีการเตรียมตัวก่อนตรวจ การเลือกตรวจในอายุครรภ์ที่เหมาะสม ท่าทางของลูกน้อยที่ต้องหันสิ่งที่ต้องการตรวจสู่หัวตรวจ ปริมาณน้ำคร่ำที่มากพอในบริเวณที่จะตรวจ เหล่านี้ล้วนเป็นหัวใจสำคัญ ในการสร้างภาพที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ เห็นภาพเสมือนจริงของเจ้าตัวน้อย

 

อัลตร้าซาวด์ 4 มิติ แตกต่างจาก อัลตร้าซาวด์ 3 มิติ อย่างไร ??

   อัลตร้าซาวด์ 3 มิติ คือ การใช้เทคนิคคลื่นเสียงความถี่สูงทางการแพทย์ทางสูติกรรม ในการประมวลสร้างภาพ 3 ระนาบ ของทารกในครรภ์ โดยที่หัวตรวจจะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงที่ส่งผ่านมาในมุมที่แตกต่างกัน แล้วรับสัญญาณคลื่นเสียงสะท้อนกลับออกมา ทำการประมวลวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อน ทำให้สร้างภาพเป็นลักษณะภาพแบบมวลเกิดขึ้น โดยเป็นภาพพื้นผิวของทารก หรือเป็นภาพอวัยวะภายในทารก
   อัลตร้าซาวด์ 4 มิติ  มีหลักการคล้ายคลึงกับอัลตร้าซาวด์ 3 มิติ แต่มีการการเพิ่มมิติที่ 4 ได้แก่ เวลานั่นเอง ทำให้เกิดภาพที่เสมือนเคลื่อนไหวต่อเนื่องในลักษณะตรงกับเวลาจริง ในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะเลือกภาพนิ่งในแต่ละเวลา ตามที่ต้องการได้

 

สิ่งที่จำเป็นต้องทราบก่อนการตรวจ

  • สตรีตั้งครรภ์ ควรจะได้รับการตรวจอัลตร้าซาวด์ 2 มิติ ในช่วงไตรมาสที่สอง เช่น 18 - 24 สัปดาห์ เพื่อประเมินอายุครรภ์ จำนวนทารกในครรภ์ ความพิการแต่กำเนิด ตำแหน่งของรก ปริมาณน้ำคร่ำ เป็นต้น
  • อายุครรภ์ที่เหมาะสม สำหรับการตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ คือตั้งแต่ 26 สัปดาห์ ถึง 32 สัปดาห์
  • การตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ จะมีการตรวจอัลตร้าซาวด์ 2 มิติ เพื่อประเมินอายุครรภ์ จำนวนทารกในครรภ์ ความพิการแต่กำเนิด ตำแหน่งของรก ปริมาณน้ำคร่ำ เป็นต้น ร่วมด้วยเสมอ เพื่อจะได้เลือกตำแหน่งที่เหมาะสมในการตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ
  • ระยะเวลาในการตรวจประมาณ 30 นาที ถึง 45 นาที หรือมากกว่านั้น

 

 

การเตรียมตัวก่อนการตรวจอัลตร้าซาวด์  4 มิติ

  • ควรจะดื่มน้ำวันละ 1 ½ - 2 ลิตร ก่อนการตรวจอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  • พักผ่อนให้เพียงพอก่อนการตรวจ
  • รับประทานอาหารตามมื้ออาหารได้ตามปกติ ถ้าถึงเวลารับประทานอาหารแล้ว แนะนำให้รับประทานอาหารพอสมควรก่อนการตรวจ เพื่อให้ทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารตามปกติ ช่วยทำให้ทารกเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
  • ควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนการตรวจ

   อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่อาจจะได้หรือไม่ได้ภาพที่สมบูรณ์ตามที่คาดหวัง ทั้งนี้ เนื่องจากการเกิดภาพที่สมบูรณ์ต้องประกอบด้วย ทารกหันอวัยวะที่ต้องการตรวจมาทางด้านหัวตรวจ ปริมาณน้ำคร่ำมีจำนวนมากพอในตำแหน่งที่จะตรวจ ไม่มีสิ่งที่ขัดขวางการตรวจ เช่น ผนังหน้าท้องคุณแม่ที่หนามาก เนื้องอกมดลูก รกที่หนาและอยู่ด้านหน้า สายสะดือที่อยู่ด้านหน้า อวัยวะของทารกเองที่อาจจะบังภาพ เช่น แขน ขา เป็นต้น  ในการตรวจอาจจะต้องให้คุณแม่เปลี่ยนท่าทางในการตรวจ หรือให้ลุกเดินไปมา หรือใช้เวลามากกว่าที่แจ้งไว้ ทั้งนี้เพื่อจะให้ได้ภาพที่สมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงควรเผื่อเวลาในการตรวจไว้หากเกิดความจำเป็นดังกล่าว

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.กิตติ  วงษ์กิติโสภณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.