หลอดเลือดหัวใจตีบ ภัยเงียบ...ที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

พฤติกรรมการใช้ชีวิตของทุกคนที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในสังคมเมือง อาจทำให้การใส่ใจสุขภาพของตนเองน้อยลง แถมเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายของเราก็ย่อมเสื่อมถอยไปตามเวลา จนเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่ต่างแวะเวียนมาหาแบบไม่ให้ทันตั้งตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” ที่หลายคนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วกลับใกล้ตัวกว่าที่คิด แถม “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” ก็ยังเป็น 1 ในโรคที่คร่าชีวิตของคนไทยเป็นอันดับต้นๆ วันนี้โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มากขึ้น
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากอะไร?
“โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” เกิดจากผนังหลอดเลือดหัวใจ “Coronary” เสื่อมสภาพ ทำให้มีความหนาตัวขึ้นจากการอุดตันของไขมันและเนื้อเยื่อ เป็นเหตุให้หลอดเลือดตีบ การไหลเวียนเลือดไปสู่หัวใจลดน้อยลงและหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จนอาจทำให้เกิด “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” ได้
“ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” นี่เอง ที่ส่งผลให้ร่างกายแสดงอาการออกมาเป็นอาการเจ็บหน้าอกหนักๆ แถมถ้าเกิดไขมันที่สะสมอยู่บนผนังหลอดเลือดชั้นในเกิดการแตกตัวออกกลายเป็นลิ่มเลือด ก็อาจทำให้เกิดการอุดตันแบบฉับพลัน ซึ่งอาจนำไปสู่ “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” และเสียชีวิตอย่างกะทันหันได้
อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นอย่างไร?
- มักจะเหนื่อยง่ายเฉียบพลัน เวลาที่ออกกำลังหรือต้องใช้แรงจำนวนมาก
- หายใจหอบ หายใจเข้าได้ไม่เต็มปอด และไม่สามารถนอนราบกับพื้นได้
- หน้ามืด เวียนหัว และแน่นหน้าอก เนื่องจากความดันโลหิตต่ำแบบเฉียบพลัน
- เจ็บหน้าอกเหมือนถูกเค้นแรงๆ หมายรวมไปถึงอาการร้าวตั้งแต่ คอ กราม ไหล่ และแขน 2 ข้าง
- ในกรณีที่รุนแรง อาจหมดสติหรือมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจวาย
- มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
- เป็นโรคเบาหวาน
- มีความดันโลหิตสูง
- มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
- มีความเครียดสะสม
- ไม่ค่อยออกกำลังกาย
- ไม่ค่อยกินผักและผลไม้
- สูบบุหรี่จัด
การตรวจวินิจฉัยค้นหาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
สำหรับคนที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ควรหมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อซักประวัติและตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเบื้องต้น เช่น ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด และตรวจวัดไขมันในเลือด ควบคู่กับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab test) เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การตรวจการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) การตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echo) การถ่ายภาพรังสีของทรวงอก (Chest X-ray) เป็นต้น
วิธีการรักษาเป็นอย่างไร?
- การใช้ยา
- วิธีขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Balloon Angioplasty) : วิธีนี้จะช่วยดันไขมันอุดตันให้ชิดกับผนังหลอดเลือด ขยายหลอดเลือดที่ตีบตันให้เลือดสามารถวิ่งผ่านได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting) : วิธีผ่าตัดทางเดินเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจใหม่ ด้วยการสร้าง “ทางเบี่ยง” หรือที่รู้จักกันว่า “การผ่าตัด Bypass” โดยใช้หลอดเลือดจากส่วนอื่นมาต่อเข้ากับหลอดเลือดหัวใจบริเวณที่ตีบหรืออุดตัน เพื่อให้สามารถลำเลียงเลือดและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น
แล้วจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้อย่างไรบ้าง?
ถึงแม้ส่วนหนึ่งของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจจะมาจากปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างพันธุกรรม เพศ และอายุ แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายอย่างที่มาจากการกระทำของเราเอง เพราะฉะนั้นการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ที่ดีที่สุด ก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ตามแนวทางต่อไปนี้
- เริ่มจากปรับพฤติกรรมการกินให้เหมาะสมกับจำนวนพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ต่อวัน เพื่อให้พลังงานในร่างกายเกิดความสมดุล
- เลือกกินอาหารที่มีแคลอรี่ (Kcal) หรือไขมันต่ำ และเน้นกินผักผลไม้ให้หลากหลายมากขึ้นรวมถึงลดอาหารที่หวานจัดและเค็มจัด
- ออกกำลังกายและทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหว ประมาณ 30 นาทีต่อวัน เพื่อพัฒนาความแข็งแรงของระบบการทำงานหัวใจ
- งดการสูบบุหรี่ และผ่อนคลายความเครียดด้วยกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ เพื่อลดความตึงเครียด
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.ประณิธิ สาระยา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745