Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

โรคนิ้วล็อครักษาโดยการสะกิดไม่ต้องผ่าตัด

5 มี.ค. 2558

    
  โรคนิ้วล็อค เป็นโรคที่พบได้บ่อยสามารถเกิดขึ้นกับทุกเพศและทุกช่วงอายุ แต่ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป เพราะผู้หญิงมีพฤติกรรมการใช้มือทำงานที่ละเอียดอ่อนมากกว่าผู้ชาย เช่น การซักผ้า ถูบ้าน การถือกระเป๋า ถือถุงแบบช้อนหิ้วที่ฝ่ามือ
  อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการเกิดนิ้วล็อคกับพฤติกรรมการใช้มือในปัจจุบันก็จะเกิดขึ้นกับคนที่อายุน้อยลง วัยหนุ่มสาว เนื่องจากกิจกรรมของคนปัจจุบันใช้มือที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น เช่น เล่นคอมพิวเตอร์ เล่นโทรศัพท์มือถือ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เร็วขึ้นเช่นกัน ในกรณีของผู้ที่เล่นกีฬาก็สามารถเกิดนิ้วล็อคได้ อาทิ เช่น นักกอล์ฟที่ต้องใช้นิ้วมือกำไม้แน่นๆ ทุกวัน หรือนักโบว์ลิ่งที่ต้องใช้นิ้วช้อนลูกโบว์ลิ่งก็จะโอกาสเกิดโรคนี้ได้สูงกว่าผู้ที่เล่นกีฬาประเภทอื่น
    พยาธิสภาพของโรค กายวิภาคของมือแต่ละนิ้วจะมีเส้นเอ็นยาวตั้งแต่แขนส่วนปลายไปจนถึงปลายนิ้วเพื่อให้นิ้วมืองอได้ เส้นเอ็นพวกนี้จะมีปลอกหุ้มตั้งแต่ฝ่ามือจนถึงปลายนิ้ว เมื่อมีการอักเสบและหนาตัวขึ้นของเนื้อเยื้อปลอกหุ้มเส้นเอ็นตรงฝ่ามือก็จะไปรัดเส้นเอ็นทำให้เส้นเอ็นขยับได้ยาก ดังนั้นเมื่อขยับนิ้วก็จะรู้สึกเจ็บแต่ถ้าการรัดรุนแรงขึ้นเวลางอนิ้วจะงอได้ แต่ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกได้ เราเรียกว่า "นิ้วล็อค" อาการแสดง ในระยะเริ่มแรก จะมีอาการปวดเนื่องจากการอักเสบของเยื้อหุ้มเส้นเอ็น ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วหรือตลอดนิ้ว ทำให้กำมือลำบาก หรืองอนิ้วได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะตอนเช้าขณะตื่นนอน พอใช้มือไปสักพักก็จะกำมือได้ดีขึ้น จะมีอาการมากในช่วงอากาศเย็นมากกว่าอากาศร้อน ระยะต่อมาการอักเสบมากขึ้นจะรัดเส้นเอ็นทำให้งอเหยียดนิ้วได้น้อยลง ดังนั้นผู้ป่วยจะงอนื้วได้เวลากำมือแต่ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกได้ ถ้าพยายามทนเจ็บเพื่อเหยียดนิ้วออกมาก็จะได้ยินเสียงดังกรึ๊ก (trigger finger) นิ้วก็สามารถเหยียดออกมาได้ แต่พอกำมือใหม่นิ้วก็ล็อคอีก
   การรักษามีหลายวิธีหลายขั้นตอน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ ในระยะเบื้องต้น เพียงแค่กินยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่ Steroid (NSAID) รับประทาน 1 - 2 สัปดาห์ ก็จะดีขึ้น ถ้าไม่ดีขึ้น หรือไม่อยากกินยา แพทย์จะใช้วิธีฉีดยาประเภทสเตรอยด์ตรงบริเวณฝ่ามือ โอกาสหายจะมากกว่ากินยา แต่ถ้าหากว่าอาการนิ้วล็อคกลับมาเป็นอีกหลังจากฉีดยาไป 1 - 2 เดือน แพทย์อาจฉีดยาซ้ำได้ การกินยาหรือฉีดยาไม่สามารถบอกได้ว่าจะหายขาด 100 เปอร์เซ็นต์ อีก 3 - 6 เดือน มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้ จะต้องรักษาโดยวิธีผ่าตัด ซึ่งให้ผลการรักษาดีกว่าการกินยาหรือฉีดยา
   การผ่าตัดเป็นการผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอก แผลผ่าตัดที่บริเวณฝ่ามือยาวประมาณ 1 ซม. ใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่ หลังผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้เลยและสามารถกำมือเหยียดนิ้วได้ทันทีหลังผ่าตัด โดยฉีดยาชาบริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งที่นิ้วล็อคแล้วใช้เข็มฉีดยา เบอร์ 18 แทงเข้าไปสะกิดเนื้อเยื้อที่รัดเส้นเอ็นไว้ให้คลายออก ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็วกว่าการผ่าตัด สามารถทำการรักษาได้ในห้องตรวจแพทย์ไม่มีแผลเย็บ สามารถใช้มือทำงานได้เลย วิธีนี้จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้มากเมื่อเทียบกับการผ่าตัด แต่ต้องอาศัยแพทย์ที่ชำนาญโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ให้ผลการรักษา 80 - 90 % ถ้าไม่ได้ผลก็สามารถใช้วิธีผ่าตัดภายหลัง เพื่อให้อักเสบน้อยลงอาการล็อคนั้นคลายตัวลง
   สำหรับสุภาพสตรีไม่ควรหิ้วของหรือกระเป๋าที่ฝ่ามือ ควรใช้วิธีคล้องแขนแทน ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ต้องการผ่าตัด มีทางเลือกในการรักษาอีกทางหนึ่งคือ การสะกิดนิ้วโดยไม่ต้องผ่าตัด ท้ายสุดนี้ ขอแนะนำคนที่มีอาการนิ้วล็อคเบื้องต้นควรแช่มือในน้ำอุ่นแล้วขยับนิ้วเข้าออกช้าๆ 
สนับสนุนข้อมูลโดย
ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล โทรศัพท์สายด่วน 1745


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.